ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: หูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน (Acute labyrinthitis)  (อ่าน 21 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 349
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: หูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน (Acute labyrinthitis)

หูชั้นใน (inner ear/labyrinth) ประกอบด้วยอวัยวะ 2 ส่วน ได้แก่ อวัยวะหอยโข่ง (cochlea) ซึ่งควบคุมเกี่ยวกับการได้ยิน กับหลอดกึ่งวง (semicircular canals) 3 อัน ซึ่งควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัว โดยมีเส้นประสาทเชื่อมต่อกับสมอง เส้นประสาทแขนงที่เชื่อมระหว่างอวัยวะที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว (ในหูชั้นใน) กับสมองมีชื่อว่า เส้นประสาทการทรงตัว (vestibular nerve)

ทั้งหูชั้นในและเส้นประสาทการทรงตัวอาจเกิดการอักเสบ ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนอย่างรุนแรงคล้ายกัน ต่างกันตรงที่หูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน (ซึ่งมีการอักเสบของเส้นประสาทการทรงตัวร่วมกับประสาทการได้ยิน) จะมีอาการหูตึงและมีเสียงดังในหูร่วมด้วย ในขณะที่เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบจะมีอาการบ้านหมุนเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามทั้ง 2 โรคนี้มีสาเหตุและการดูแลรักษาในแนวเดียวกัน

โรคทั้ง 2 ชนิดนี้ พบได้ในคนทุกวัย แต่พบบ่อยกลุ่มอายุ 30-60 ปี

หูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน,เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ


สาเหตุ

อาการผิดปกติเกิดจากหูชั้นใน/เส้นประสาทการทรงตัวมีการอักเสบ ทำให้กระทบต่อการส่งสัญญาณไปที่สมองของประสาทการทรงตัวและประสาทการได้ยิน (สำหรับโรคหูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน) หรือการส่งสัญญาณของประสาทการทรงตัวเพียงอย่างเดียว (สำหรับโรคเส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ) ทำให้เกิดอาการผิดปกติของการทรงตัวและการได้ยิน (สำหรับโรคหูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน) หรืออาการผิดปกติของการทรงตัวเพียงอย่างเดียว (สำหรับโรคเส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ)

ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส ที่พบบ่อยคือ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น นอกจากนี้อาจเกิดจากโรคติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ เช่น คางทูม หัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส เริม งูสวัด ตับอักเสบจากไวรัส เอชไอวี เป็นต้น

ส่วนน้อยอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (เช่น หูชั้นกลางอักเสบจากแบคทีเรีย โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย) ซึ่งพบว่าผู้มีความเสี่ยงต่อการเป็นหูชั้นในอักเสบจากแบคทีเรีย คือ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และมักทำให้เกิดโรคหูชั้นในอักเสบเฉียบพลันมากกว่าเส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ

นอกจากนี้ บางรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เป็นหูชั้นในอักเสบ ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ (เช่น การบาดเจ็บที่หูหรือศีรษะ การผ่าตัดหู) บางรายอาจพบร่วมกับโรคภูมิต้านตนเอง (เช่น เอสแอลอี ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง)

ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด มีความเครียดจัด ร่างกายเหนื่อยล้าเป็นประจำ มีประวัติโรคภูมิแพ้ หรือกินยาบางชนิด (เช่น แอสไพริน ยาต้านซึมเศร้า ยารักษาเบาหวานบางชนิด) มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหูชั้นในอักเสบเฉียบพลันมากขึ้นกว่าปกติ

อาการ

หูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการเวียนศีรษะ เห็นบ้านหมุนอย่างฉับพลันและรุนแรงติดต่อกันนานเป็นวัน ๆ มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียการทรงตัว (ลุกนั่ง ยืน เดิน ทรงตัวไม่ได้ มักจะเซล้มไปข้างหนึ่ง) ร่วมกับมีเสียงในหู (หูอื้อ) และ/หรือหูตึง (ได้ยินเสียงที่มีความถี่สูงไม่ชัด) ในหูข้างหนึ่ง และอาจมีอาการตากระตุก (มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของดวงตาซึ่งเกิดขึ้นเองโดยไม่ได้ตั้งใจ) ร่วมด้วย

ผู้ป่วยมักมีอาการรุนแรงจนต้องนอนพัก ลุกขึ้นเดินลำบากและทำงานไม่ได้ ซึ่งมักจะเป็นอยู่นาน 2-3 วัน บางรายอาจนานถึง 1 สัปดาห์

ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่พบว่าจะมีอาการบ้านหมุนเกิดขึ้นหลังเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น บางรายอาจมีประวัติเป็นโรคติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ หรือหูชั้นกลางอักเสบมาก่อน

เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ มีอาการแบบเดียวกับหูชั้นในอักเสบเฉียบพลันดังกล่าวข้างต้น แต่จะไม่มีอาการหูตึงและเสียงดังในหูร่วมด้วย


ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง และจะหายได้เป็นปกติ และมักไม่กลับมากำเริบอีก

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ ได้แก่

    ขณะที่มีอาการอย่างฉับพลันและรุนแรง อาจทำให้ทำงานหรือขับรถไม่ได้ หรืออาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือหกล้มได้
    ในรายที่มีอาการอาเจียนมาก อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ
    บางรายหลังจากอาการทุเลาลงแล้ว อาจมีอาการของบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า (บีพีพีวี) ตามมา ซึ่งจะมีอาการไม่รุนแรง แต่จะเป็นเรื้อรังอยู่นานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน ๆ
    สำหรับผู้ที่เป็นหูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน อาจมีอาการหูตึงหรือหูหนวกอย่างถาวร ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยมาก และมักจะพบในรายที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (โรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง) เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย

ส่วนในรายที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดอาการหูตึงหรือหูหนวกอย่างถาวร ที่อาจพบได้ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดที่บริเวณหู


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจหู ตา และระบบประสาท)

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการเป็นหลัก ได้แก่ อาการบ้านหมุนที่เกิดขึ้นฉับพลันและรุนแรง ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียการทรงตัว ลุกนั่งไม่ได้ โดยมีอาการต่อเนื่องกันนานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ และมักมีประวัติว่าเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น หรือหูชั้นกลางอักเสบมาก่อนที่จะมีอาการบ้านหมุน

การตรวจดูตา อาจพบอาการตากระตุก

ในรายที่มีอาการบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า (บีพีพีวี) ซึ่งพบในระยะหลังของโรค การทดสอบดิกซ์ฮอลล์ไพก์ (ดู "โรคบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า/บีพีพีวี" เพิ่มเติม) มักจะให้ผลบวก คือกระตุ้นให้เกิดอาการบ้านหมุนและตากระตุก

ในรายที่ยังวินิจฉัยไม่ได้ชัดเจน มีอาการแย่ลงหรือนานกว่า 3 สัปดาห์ หรือสงสัยว่าอาจเกิดจากสาเหตุอื่น (เช่น โรคทางสมอง โรคทางหูชนิดอื่น ๆ) แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตรวจสมรรถภาพของการได้ยิน (audiometry) ตรวจความผิดปกติของหูชั้นในที่เกี่ยวกับการทรงตัว (เช่น electronystagmograp hy/ENG, video head impulse test) ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

1. ในรายที่อาการไม่รุนแรง และยังกินอาหารดื่มน้ำได้ ลุกขึ้นเดินได้ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวในการดูแลตนเอง และให้การรักษาตามอาการ เช่น ไดเมนไฮดริเนต, ไดเฟนไฮดรามีน, ไดอะซีแพม ครั้งละ 1-2 เม็ด ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง จนกว่าจะทุเลาก็จะหยุดยา (ส่วนใหญ่อาจใช้ยาอยู่เพียง 2-3 วัน)

2. ในรายที่มีอาการบ้านหมุน อาเจียนรุนแรง ลุกขึ้นเดินไม่ได้ หรือกินอาหารไม่ได้/ดื่มน้ำไม่ได้, มีอาการหูตึงอย่างฉับพลัน ปวดหูหรือมีหนองไหลออกจากหู, มีอาการเดินเซ ปวดศีรษะมาก เห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้ หรือแขนขาชา/อ่อนแรง, เป็นเริม/งูสวัด/อีสุกอีใส/โรคภูมิต้านตัวเอง, มีอาการหลังได้รับบาดเจ็บ หรือสงสัยเป็นโรคทางสมอง (เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกสมอง) อย่างใดอย่างหนึ่ง แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม และให้การรักษาดังนี้

    ให้ยารักษาตามอาการ อาจต้องใช้ยาฉีด เช่น ไดอะซีแพม หรือโพรคลอร์เพอราซีน (prochlorperazine) เมื่อดีขึ้นค่อยเปลี่ยนเป็นยาเม็ดไดเมนไฮดริเนต หรือโพรคลอร์เพอราซีน ให้กินต่อจนกว่าจะหายเป็นปกติ
    ในรายที่มีอาการอาเจียนบ่อย กินอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ หรือมีภาวะขาดน้ำ แพทย์จะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
    ในรายที่เกิดจากเชื้อไวรัสเริม งูสวัด หรืออีสุกอีใส แพทย์อาจให้ยาต้านไวรัส เช่น ให้อะไซโคลเวียร์
    สำหรับผู้ที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคหูชั้นกลางอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ รวมทั้งแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
    ในรายที่มีอาการหูตึง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาสเตียรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน) เพี่อลดการอักเสบของประสาทหู บางรายแพทย์อาจใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์ผ่านเยื่อแก้วหูเข้าไปในหูชั้นกลาง
    ในรายที่มีอาการรุนแรงมากหรือสงสัยเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (ปวดศีรษะและอาเจียนรุนแรง คอแข็ง ซึม ชัก) แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล

3. ในรายที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับประสาทการทรงตัวเรื้อรังนานเป็นเดือน ๆ หรือเป็นแรมปี แพทย์จะให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูประสาทการทรงตัว (vestibular rehabilitation)

ผลการรักษา ส่วนใหญ่อาการจะทุเลาลงภายใน 1-3 สัปดาห์ และจะหายเป็นปกติใน 1-2 เดือน

บางรายอาจมีอาการเมารถเมาเรือง่าย หรือมีอาการบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่าหรือบีพีพีวี อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ อยู่นานหลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ๆ หรืออาจมีอาการสูญเสียการทรงตัวนานเป็นแรมเดือนแรมปี แล้วหายไปได้เองในที่สุด

ส่วนอาการหูตึงส่วนใหญ่จะค่อย ๆ ทุเลาจนหายเป็นปกติ มีน้อยรายที่อาจมีอาการหูตึงหรือหูหนวกอย่างถาวร ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรีย บางรายอาจมีอาการมีเสียงในหูอย่างถาวร


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียการทรงตัว และอาจมีอาการหูตึง มีเสียงดังในหูร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นหูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน/เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการขับรถ การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร และการปีนขึ้นที่สูง
    อย่าเคลื่อนไหวศีรษะเร็ว ๆ และหลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการ (เช่น การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว การก้มหรือเงยคอ การหันหน้าไปจนสุด)
    ขณะมีอาการควรนอนนิ่ง ๆ และหลับตาในห้องที่เงียบ ๆ มืด ๆ จนกว่าจะทุเลา
    ดื่มน้ำให้มากพอ โดยจิบทีละน้อยแต่บ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
    ควรกินอาหารเหลว (เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม) ดื่มนม น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้ ทีละน้อยแต่บ่อย ๆ เพื่อลดอาการอาเจียน
    หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ แสงสว่างจ้าหรือแสงกะพริบ เสียงรบกวน การดูทีวีและจอคอมพิวเตอร์ การอ่านหนังสือ สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวล
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด
    เมื่ออาการเริ่มทุเลาลง ควรค่อย ๆ ลุกขึ้น ควรมีคนคอยพยุงเวลาลุกขึ้นเดิน     

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการบ้านหมุนรุนแรง อาเจียนมาก กินไม่ได้ หรือดื่มน้ำไม่ได้ หรือลุกขึ้นนั่งไม่ได้ (ต้องนอนนิ่งบนเตียง) นานเป็นวัน ๆ
    มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะมาก ตาเห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้ แขนขาชาหรืออ่อนแรงข้างหนึ่ง เป็นลม ชัก เป็นต้น
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ดูแลรักษานาน 1 สัปดาห์แล้วอาการไม่ทุเลา
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

ยังไม่มีการป้องกันที่ได้ผลเต็มที่

อาจลดความเสี่ยงลงด้วยการปฏิบัติตัว ดังนี้

    ดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และหูชั้นกลางอักเสบ และหากเป็นโรคเหล่านี้ควรดูแลรักษาให้ได้ผลแต่เนิ่น ๆ
    ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ หัด หัดเยอรมัน คางทูม อีสุกอีใส
    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย และหาทางผ่อนคลายความเครียด

ข้อแนะนำ

1. อาการบ้านหมุนมักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหูชั้นใน ซึ่งอาจมีสาเหตุหลายประการด้วยกัน หากมีอาการบ้านหมุนรุนแรง หรือเป็นครั้งละนานมากกว่า 20 นาที เป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หูตึง มีเสียงดังในหู หรือสูญเสียการทรงตัว มักจะไม่ใช่มีสาเหตุจากโรคบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า (บีพีพีวี) แต่อาจเกิดจากโรคเมเนียส์ หูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน หรือเนื้องอกประสาทหูได้ ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุ

2. โรคหูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน/เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ และโรคเมเนียส์ มีอาการบ้านหมุนอย่างฉับพลันและรุนแรง ร่วมกับอาการหูตึง มีเสียงดังในหู สูญเสียการทรงตัว และคลื่นไส้ อาเจียนคล้าย ๆ กัน ต่างกันที่หูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน/เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ จะเป็นติดต่อกันนาน 2-3 วัน และเมื่อหายแล้วมักจะไม่มีอาการกำเริบใหม่ (ถ้าพบว่ามีอาการกำเริบใหม่ มักจะเกิดจากสาเหตุอื่น) ส่วนโรคเมเนียส์มักจะมีอาการนานครั้งละไม่กี่นาทีถึงหลายชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง และจะมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราวอยู่เรื่อย ๆ

3. ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีอาการรุนแรงอยู่ 2-3 วัน หลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ ทุเลาลง เมื่อรู้สึกทุเลาค่อนข้างดีแล้ว ควรหยุดยาที่ใช้บรรเทาอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน ไม่ควรกินต่อเนื่องไปนาน ๆ เพราะอาจทำให้ประสาทการทรงตัวฟื้นตัวได้เนิ่นช้าไป และผู้ป่วยควรลุกขึ้นเดินและเคลื่อนไหวร่างกายโดยเร็ว เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายฟื้นคืนสู่ปกติได้เร็ว

 

ลงประกาศฟรี โฆษณาฟรี ลงประกาศขายบ้านฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถ สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทสินค้าฟรี เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google