ยาชูกำลัง: วิธีแก้ความอ่อนเพลีย ให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ตลอดวัน คุณเคยรู้สึกว่าคุณใช้ชีวิตในแต่ละวันไม่สดชื่นบ้างหรือไม่ วันๆ คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่มีแรง เหมือนมีแต่กายหยาบไร้จิตวิญญาณ ไร้สติ ซึ่งคงจะลำบากน่าดูที่ต้องทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันด้วยสภาพนั้น เพราะมันอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง และโหยหาเตียงนอนมากกว่าใดๆ ทั้งหมด ยิ่งถ้าคุณ Work from Home ด้วยแล้วล่ะก็ ไม่น่ารอด ที่คุณจะแอบอู้งานไปนอนจนงานไม่เสร็จ
จริงๆ แล้วเราทุกคนต่างเคยประสบกับเหตุการณ์แบบนี้มาแล้วทั้งนั้น ส่วนใหญ่เราจะเรียกมันว่า "น้ำตาลตก" คุณจะไม่มีแรงทำงาน หรือทำอะไรแบบซังกะตาย โดยในช่วงนี้ คือช่วงที่ร่างกายของคุณเริ่มหมดพลังงาน จึงไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงและรู้สึกอ่อนเพลีย ซึ่งไม่เพียงแต่แสดงออกทางร่างกายเท่านั้น จิตใจคุณก็ห่อเหี่ยวตามไปด้วย
Elizabeth DeRobertis นักโภชนาการและผู้อำนวยการศูนย์โภชนาการ Scarsdale Medical Group ประจำโรงพยาบาลไวท์เพลนส์ กล่าวว่า "มีหลายวิธีที่เราสามารถเพิ่มพลังงานระหว่างวันได้ โดยเน้นไปที่การกินอาหารที่เหมาะสม และจังหวะเวลาของมื้ออาหารและช่วงของว่าง" เพื่อให้ร่างกายรักษาระดับพลังงานในการดำเนินชีวิตได้คงที่ตลอดวัน ซึ่งวิธีเหล่านี้คนส่วนใหญ่รู้ดีว่ามีผลดีต่อสุขภาพ แต่ก็ยังเลือกที่จะทำตรงกันข้าม
นักโภชนาการสถาบันโภชนาการและการควบคุมอาหาร ยังบอกอีกว่า "เพื่อผลที่ดีที่สุด คุณต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยอื่นๆ ที่จะบั่นทอนพลังงานของคุณด้วย เช่น การอดนอนและความเครียด"
1. ว่าด้วยเรื่องการกิน
อาหารเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย เมื่อคุณกินอาหารเข้าไป จะผ่านกระบวนการย่อยและเผาผลาญ เปลี่ยนเป็นสารอาหารและพลังงานให้ร่างกาย อย่างไรก็ดี คุณจำเป็นต้องควบคุมการกินอาหารด้วย ไม่ใช่ว่าจะตามใจปากกินตามใจชอบ ซึ่งถ้าคุณต้องการให้ร่างกายกระฉับกระเฉงตลอดทั้งวัน คุณควรวางแผนการกินดังนี้
- กินทุกๆ 3-4 ชั่วโมง เพื่อรักษาพลังงานให้คงที่ตลอดทั้งวัน การทิ้งช่วงมื้ออาหารนานเกินไปทำให้พลังงานตก ร่างกายจะเตือนให้คุณรู้เมื่อคุณรู้สึกหิว และระหว่างนั้นอาจทำให้คุณกินจุบกินจิบ ดังนั้น คุณควรกินอาหารให้ถี่ขึ้นทุกๆ 3-4 ชั่วโมง (เมื่อร่างกายส่งสัญญาณว่าหิว) โดยกินทีละน้อยๆ เน้นบ่อยๆ และไม่ใช่ว่าจะกินอะไรก็ได้ เลือกที่มีประโยชน์ด้วย
- เน้นโปรตีน โปรตีนเป็นสารอาหารที่อยู่ท้อง อิ่มนาน เพราะใช้เวลาย่อยนานกว่าสารอาหารประเภทอื่น นอกจากนี้ โปรตีนยังช่วยเพิ่มรสชาติและเนื้อสัมผัสที่แตกต่างในมื้ออาหารด้วย
- คาร์โบไฮเดรต เน้นอาหารที่ใยอาหารสูง เช่น ผลไม้และธัญพืชไม่ขัดสี โดยคาร์โบไฮเดรตจะเป็นสารอาหารที่ร่างกายใช้เวลาย่อยเร็วที่สุด เพิ่มพลังงานให้ร่างกายเร็วกว่าสารอาหารชนิดอื่นๆ แต่ใยอาหารจะทำให้การลำเลียงคาร์โบไฮเดรตช้าลง อิ่มนานขึ้น รักษาพลังงานไว้ได้นานขึ้น ภาวะน้ำตาลตกก็จะช้าลงตาม เมื่อระดับพลังงานคงที่ คุณก็จะไม่หิว ไม่อยากอาหารบ่อยๆ นั่นเอง
- ขนมกินได้แต่ต้องเลือก ไม่ได้แปลว่าคุณจะกินขนมไม่ได้ แต่คุณอาจต้องเลือกกิน ซึ่งขนมที่อุดมด้วยสารอาหาร จะช่วยรักษาระดับพลังงานของคุณให้คงที่ หากมีขนม 2 อย่างที่แคลอรีเท่ากัน การเลือกขนมที่มีสารอาหารที่มีประโยชน์กว่าก็ส่งผลดีต่อร่างกายมากกว่าเช่นกัน ได้พลังงานและได้ประโยชน์ ดีกว่าขนมที่กินแล้วได้แต่แคลอรีอย่างเดียวแน่นอน
2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
เมื่อร่างกายของคุณขาดน้ำหรือได้รับน้ำที่ไม่เพียงพอ หัวใจของคุณจะทำงานหนักในการสูบฉีดเลือด เนื่องจากเลือดคุณข้นหนืด ไหลเวียนไม่สะดวก ซึ่งเป็นสาเหตุให้คุณรู้สึกอ่อนเพลียได้ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อระบบเผาผลาญและการลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนล้าไม่มีแรง เพราะได้รับพลังงานจากอาหารไม่เพียงพอ คุณสามารถเช็กการดื่มน้ำของตัวเองจากการปัสสาวะ หากคุณดื่มน้ำเพียงพอ คุณจะรู้สึกว่าต้องปัสสาวะทุกๆ 2-3 ชั่วโมงระหว่างวัน นอกจากนี้ให้สังเกตสีของปัสสาวะ หากสีเข้มมากคุณก็ดื่มน้ำน้อยเกินไป
3. นอนหลับอย่างมีคุณภาพ
การที่คุณนอนหลายชั่วโมง ไม่ได้แปลว่าคุณพักผ่อนเพียงพอถ้าการนอนนั้นไม่มีคุณภาพ สังเกตได้จากคุณยังรู้สึกง่วงเหงาหาวนอนทั้งวันทั้งที่เข้านอนเร็วและ (คิดว่า) นอนหลายชั่วโมง การนอนหลับที่มีคุณภาพมีผลต่อระดับพลังงานในแต่ละวัน มีงานวิจัยบางชิ้นที่สนับสนุนว่าเมื่อคุณนอนหลับไม่เพียงพอ อาจทำให้ร่างกายดื้ออินซูลิน มีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาล แต่ที่แน่ๆ ถ้าคุณพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้น้อยลง เมื่อพลังงานไม่พอ คุณก็มีแนวโน้มจะกินมากขึ้นเพื่อเพิ่มพลังงาน กินเท่าไรก็ไม่พอเพราะระบบเผาผลาญทำงานไม่ดี
4. อย่าใช้คาเฟอีนเพื่อเพิ่มพลัง
คาเฟอีนช่วยกระตุ้นพลังได้ในระยะสั้นเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป พลังงานของคุณก็จะค่อยๆ ผ่อนลง แต่ไม่ได้หมายความคุณจะดื่มกาแฟไม่ได้ เพียงแต่ต้องควบคุมปริมาณคาเฟอีนให้ได้วันละ 200 ถึง 300 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งปริมาณจะเท่ากับกาแฟที่ชงแล้วประมาณ 2 แก้ว ฉะนั้น คุณสามารถดื่มกาแฟในตอนเช้าได้ตามปกติ ขอแค่อย่าดื่มมากจนเกินไป และต้องเว้นระยะห่างต่อแก้วให้พอดี สมดุลกับการกินอาหารและการดื่มน้ำเปล่า
5. เพิ่มการออกกำลังกาย
การออกกำลังกาย นอกจากจะมีผลให้ร่างกายของคุณแข็งแรงแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้คุณรู้สึกกระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉงได้ดีทีเดียว การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน หรือฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา นอกจากนี้ยังกระตุ้นการสูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนได้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายได้รับเลือดอย่างเต็มที่ ซึ่งจะมีผลต่อการควบคุมอินซูลิน ที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ เมื่อไม่รู้สึกว่าน้ำตาลตก คุณก็จะไม่รู้สึกเพลียหรืออ่อนล้าหมดแรง
6. ควบคุมความเครียด
หากคุณเครียดมากเกินไป จะทำให้คุณรู้สึกอ่อนล้าและหมดพลังงานได้ ไม่เพียงเท่านั้น ความเครียดยังส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับ เมื่อคุณรู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม ก็ทำให้ยิ่งเหนื่อยและหงุดหงิด แล้วก็จะเครียดหนักกว่าเดิม ดังนั้น คุณจะต้องควบคุมระดับความเครียดของตนเองไม่ให้มีมากเกินไปจนรบกวนการใช้ชีวิต ซึ่งมีหลากหลายวิธี เช่น การทำงานอดิเรกที่คุณชื่นชอบ ฟังเพลง นอนหลับอย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง จะช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลและความเครียดได้ แต่กุญแจสำคัญอยู่ที่คุณต้องเลือกวิธีที่เหมาะกับตัวเอง
7. ดูแลตัวเอง
ร่างกายของคุณ ถ้าคุณไม่ดูแลแล้วจะหวังให้ใครมาดูแล สุขภาพกายและสุขภาพจิตของคุณจะดีหรือแย่อยู่ที่การดูแลตัวเอง พลังงานที่ทำให้เราดำรงชีวิตได้มาจาก 2 ส่วน คือ พลังทางกายและพลังทางจิตใจ หากคุณรู้สึกว่าตัวเองเริ่มล้า คุณต้องระบุให้ได้ว่าต้องการเพิ่มพลังกายหรือพลังใจ หากต้องการพลังงานกายเพราะหิว คุณก็ไปหาอะไร (ที่มีประโยชน์) กิน ง่วงก็ไปงีบ เหนื่อยก็ดื่มน้ำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย แต่ถ้าต้องการพลังใจ คุณต้องหากิจกรรมที่ช่วยกำจัดพลังงานลบ ลองออกไปเดินรับอากาศบริสุทธิ์ หรือทำอะไรที่ออกแรงกายมากๆ เพื่อผ่อนความตึงเครียดลง