ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: ฝี (Abscess/Boils/Furuncles)  (อ่าน 40 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 507
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: ฝี (Abscess/Boils/Furuncles)
« เมื่อ: 21 กุมภาพันธ์ 2025, 17:19:18 pm »
หมอออนไลน์: ฝี (Abscess/Boils/Furuncles)

ฝี เป็นตุ่มหนองหรือถุงหนอง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ แล้วเกิดการอักเสบกลายเป็นหนองขังอยู่ใต้ผิวหนัง พบได้ทุกส่วนของร่างกาย เรียกว่า "Abscess" ซึ่งหมายถึงฝีทุกชนิด*

ถ้าเป็นตุ่มฝีที่เกิดจากการอักเสบของรูขุมขนและเนื้อเยื่อโดยรอบ เรียกว่า "Boils" หรือ "Furuncles" (ถ้าขึ้นหลายหัวติด ๆ กัน เรียกว่า "Carbuncles" หรือ ฝีฝักบัว) ซึ่งพบได้บ่อยในบริเวณที่มีการเสียดสีและมีเหงื่อออกมาก เช่น ใบหน้า คอ ไหล่ รักแร้ ก้น เป็นต้น นอกจากนี้อาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคผิวหนัง เช่น สิว หิด เหา เป็นต้น

ฝีที่ผิวหนังพบได้ในคนทุกวัย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เบาหวาน เอดส์ กินสเตียรอยด์เป็นประจำ ขาดอาหาร) มีสุขอนามัยที่ไม่ดี มีการสัมผัสสารเคมีที่ระคายผิวหนัง มีความเสี่ยงที่จะเป็นฝีได้ง่ายและบ่อย

*ฝี (abscess) นอกจากพบที่ผิวหนังซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มสแตฟีโลค็อกคัสแล้ว ยังอาจพบที่อวัยวะต่าง ๆ ได้ ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อจุลชีพต่าง ๆ กันไป และแต่ละชนิดอาจมีชื่อเรียกจำเพาะ เช่น กุ้งยิง(sty/hordeolum), ฝีทอนซิล (peritonsillar abscess), ฝีรำมะนาดหรือฝีปริทันต์ (periodontal abscess), ฝีสมอง (brain abscess), ฝีตับ (liver abscess), ฝีไต (kidney abscess), ฝีปอด (lung abscess), ฝีรอบทวารหนัก (perianal abscess), ฝีคัณฑสูตร (fistula in ano) เป็นต้น


สาเหตุ

ฝีที่ผิวหนังส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มสแตฟีโลค็อกคัส อาจติดต่อโดยการสัมผัสถูกผู้ป่วยโดยตรง โดยเชื้อจะเข้าไปในบริเวณผิวหนังที่มีรอยแยกหรือรอยบาดแผลเล็ก ๆ ทำให้เกิดการอักเสบ กลายเป็นตุ่มฝีหรือถุงฝีซึ่งบรรจุด้วยเชื้อโรค เม็ดเลือดขาว และเซลล์ตาย

อาการ

มักจะขึ้นเป็นตุ่ม หรือก้อนบวม รู้สึกปวด กดถูกเจ็บ ผิวหนังบริเวณนั้นมีลักษณะแดงร้อน

ในรายเป็นฝีที่เกิดจากรูขุมขนอักเสบ (boils) จะพบมีเส้นผมหรือขนอยู่ตรงกลาง

ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ร่วมด้วย

ระยะที่ขึ้นเป็นฝีใหม่ ๆ จะมีลักษณะแข็ง ตุ่มนี้จะขยายโตขึ้นและเจ็บมาก ต่อมาค่อย ๆ นุ่มลงและกลัดหนอง บางครั้งเมื่อฝีเป่งมาก ๆ อาจแตกเองได้ (หลังฝีขึ้นไม่กี่วัน หรือ 1-2 สัปดาห์) แล้วอาการเจ็บปวดและอาการไข้ที่อาจมีตอนแรกจะทุเลา

บางครั้งอาจพบต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงอักเสบด้วย เช่น ถ้าเป็นฝีที่เท้า อาจมีไข่ดัน (ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ) บวมและปวด ถ้าเป็นที่มือ ก็อาจมีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ เป็นต้น


ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่มักดูแลรักษาให้หายขาด และไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ยกเว้นอาจเป็นแผลเป็น

ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเป็นฝีได้บ่อย และหากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรกอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือด ทำให้เป็นฝีที่ไต (perinephric abscess) กระดูกอักเสบเป็นหนอง (osteomyelitis) โลหิตเป็นพิษ

ถ้าเป็นฝีตรงบริเวณกลาง ๆ ใบหน้า (เช่น กลางสันจมูก หรือริมฝีปากบน) แล้วบีบแรง ๆ เชื้ออาจแพร่กระจายเข้าสมองเป็นอันตรายถึงตายได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ในบางรายแพทย์อาจจะดูดเอาหนองไปตรวจหาเชื้อ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นจัด ๆ (ขนาดที่พอทนได้ อย่าร้อนจัด) ประคบวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที ช่วยให้ตุ่มฝีไม่โตขึ้น และสุกเร็วขึ้น

2. ให้ยาแก้ปวดลดไข้

3. ถ้ามีไข้ มีฝีหลายหัว หรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบร่วมด้วย แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน โคอะม็อกซิคลาฟ หรืออีริโทรไมซินนาน 5-7 วัน

4. ถ้าฝีสุก (ฝีนุ่มเต็มที่) อาจใช้เข็มเจาะดูด หรือผ่าระบายหนองออก พร้อมกับใส่ผ้าเป็นหมุดระบายหนอง ชะล้างแผลและเปลี่ยนหมุดทุกวัน จนกระทั่งแผลตื้น


การดูแลตนเอง

หากสงสัยเป็นฝี ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นฝี ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    อย่าบีบหัวฝี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าขึ้นตรงกลางใบหน้า
    หลีกเลี่ยงการกินยาชุด หรือยาลูกกลอน ซึ่งอาจมียาสเตียรอยด์ผสม ทำให้ฝีลุกลามได้


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
    มีไข้สูง หนาวสั่น เบื่ออาหาร หรือ ฝีลุกลามมากขึ้น
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

    รักษาความสะอาดของร่างกาย อาบน้ำฟอกสบู่วันละ 2 ครั้ง
    กินอาหารที่มีประโยชน์เป็นประจำ
    หลีกเลี่ยงการกินยาชุด หรือยาลูกกลอนซึ่งอาจมียาสเตียรอยด์ผสม ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง
    เมื่อมีบาดแผลเล็กน้อยที่ผิวหนัง ควรดูแลแผลให้สะอาดและรักษาแผลให้หายดี

ข้อแนะนำ

1. ถ้าเป็นฝีบ่อย ๆ อาจมีภูมิคุ้มกันต่ำ เนื่องจากขาดอาหาร โลหิตจาง เป็นเบาหวาน เอดส์ หรือกินสเตียรอยด์นาน ๆ

ควรตรวจหาสาเหตุ และให้การดูแลรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ควรตรวจปัสสาวะ ถ้าพบมีน้ำตาล ก็อาจเป็นเบาหวาน ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล

2. ผู้ป่วยที่เป็นเมลิออยโดซิส อาจแสดงอาการของการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น ตุ่มนูน ตุ่มหนอง ฝี แผลอักเสบ แผลเรื้อรัง เป็นต้น ถ้าให้การรักษาแล้วไม่ได้ผล หรือสงสัยเป็นเมลิออยโดซิส (เช่น พบในคนอีสานที่เป็นเบาหวาน) ก็ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

 

ลงประกาศฟรี โฆษณาฟรี ลงประกาศขายบ้านฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถ สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทสินค้าฟรี เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google