ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: งูสวัด (Herpes zoster/Shingles)  (อ่าน 9 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 362
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: งูสวัด (Herpes zoster/Shingles)
« เมื่อ: 11 พฤศจิกายน 2024, 16:21:48 pm »
หมอประจำบ้าน: งูสวัด (Herpes zoster/Shingles)

งูสวัด เป็นโรคที่พบได้บ่อย ซึ่งจะพบได้มากขึ้นตามอายุ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง มักพบในคนอายุมากกว่า 50 ปี พบบ่อยในคนอายุ 60-80 ปี ในเด็กและทารกพบได้น้อยและมักมีอาการไม่รุนแรง

โรคนี้จะมีอาการรุนแรงขึ้น และระยะที่เป็นจะนานขึ้นตามอายุ

มักจะเป็นเพียงครั้งเดียวในชีวิต เมื่อหายแล้วจะไม่เป็นซ้ำอีก ยกเว้นผู้ป่วยเอดส์อาจเป็นงูสวัดซ้ำได้หลายครั้ง

สาเหตุ

เกิดจากเชื้ออีสุกอีใส-งูสวัด (varicella-zoster virus/VZV) ที่หลบเข้าปมประสาทใต้ผิวหนังหลังจากมีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ครั้งแรก (ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงอาการของโรคอีสุกอีใส) เชื้อจะแฝงตัวอยู่อย่างสงบเป็นเวลานานหลายปีถึงสิบ ๆ ปี โดยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น อายุมาก ถูกกระทบกระเทือน มีความเครียด ทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ ติดเชื้อเอชไอวี เป็นมะเร็ง ใช้ยาต้านมะเร็งหรือยากดภูมิคุ้มกัน เชื้อที่แฝงตัวอยู่นั้นก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเกิดการปลุกฤทธิ์คืน (reactivation) และกระจายในปมประสาท ทำให้เส้นประสาทอักเสบ (เกิดอาการปวดตามเส้นประสาท) เชื้อจะกระจายไปตามเส้นประสาทที่อักเสบ และปล่อยเชื้อไวรัสออกมาที่ผิวหนัง เกิดเป็นตุ่มน้ำใสเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท

ผู้ที่เป็นโรคงูสวัดจึงมีประวัติเคยเป็นอีสุกอีใสในวัยเด็ก หรือเคยมีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มาก่อน โดยไม่มีอาการแสดง ซึ่งสามารถตรวจพบสารภูมิต้านทานในเลือด

อาการ

ก่อนมีผื่นขึ้น 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแปลบบริเวณเส้นประสาทที่เป็นงูสวัด อาจมีอาการคันและแสบร้อนคล้ายถูกไฟไหม้เป็นพัก ๆ หรือตลอดเวลาตรงบริเวณผิวหนังตามแนวเส้นประสาทที่เกิดผื่นงูสวัด มักพบบริเวณชายโครง ใบหน้า แขนหรือขาเพียงข้างเดียว* อาจทำให้คิดว่าเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อ ถ้าปวดที่ชายโครงก็อาจทำให้คิดว่าเป็นโรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วไต ไส้ติ่งอักเสบได้ ถ้าปวดที่ใบหน้าข้างเดียว อาจทำให้คิดว่าเป็นไมเกรนหรือโรคทางสมอง

บางรายอาจมีอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ ท้องเดินร่วมด้วย

ต่อมาจะมีผื่นแดง ๆ ขึ้นตรงบริเวณที่ปวด แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใสเรียงตามแนวผิวหนังที่เลี้ยงโดยเส้นประสาท ตุ่มน้ำมักทยอยขึ้นใน 4 วันแรก และจะเริ่มเป็นตุ่มน้ำขุ่นในวันที่ 3 ค่อย ๆ แห้งตกสะเก็ดใน 7-10 วัน แล้วหลุดออกไป และอาการปวดจะทุเลาไป รวมแล้วจะมีผื่นอยู่นานประมาณ 10-15 วัน ผู้ที่มีอายุมากอาจเป็นนานเป็นเดือนกว่าจะหายเป็นปกติ


งูสวัดที่บั้นเอวข้างซ้าย

*ที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณหน้าผากและตา ที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 แขนงที่มาเลี้ยงตา เรียกว่า งูสวัดขึ้นตา (ophthalmic zoster/zoster ophthalmicus) และบริเวณลำตัวตามแนวชายโครง (จากหน้าท้องไปถึงด้านหลัง) ที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทสันหลังทรวงอกและบั้นเอว (T3-L2)

ภาวะแทรกซ้อน

ที่พบได้บ่อยุสด คือ อาการปวดประสาทหลังเป็นงูสวัด (postherpetic neuralgia/PHN) โดยเฉลี่ยพบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยงูสวัด พบได้ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป และมากกว่าร้อยละ 70 ในผู้ป่วยอายุ 70 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากยิ่งเป็นรุนแรงและนาน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่แรก หรือเกิดขึ้นภายหลังผื่นหายหมดแล้ว มีลักษณะปวดลึก ๆ แบบปวดแสบปวดร้อนตลอดเวลา หรือปวดแปลบ ๆ เสียว ๆ คล้ายถูกมีดแทงเป็นพัก ๆ มักปวดเวลาถูกสัมผัสเพียงเบา ๆ ปวดมากตอนกลางคืน หรือเวลาอากาศเปลี่ยนแปลง บางครั้งอาจรุนแรงมากจนทนไม่ได้ อาการปวดมักหายได้เอง (ร้อยละ 50 หายเองภายใน 3 เดือน และร้อยละ 75 หายเองภายใน 1 ปี) บางรายอาจปวดนานเป็นแรมปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าขึ้นที่บริเวณหน้า

ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น

    มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน (เนื่องจากใช้เล็บเกา หรือการดูแลบาดแผลไม่ถูกสุขลักษณะ) ทำให้กลายเป็นตุ่มหนอง แผลหายช้า และกลายเป็นแผลเป็น
    ในรายที่เป็นงูสวัดขึ้นตา อาจทำให้เกิดกระจกตาอักเสบ แผลกระจกตา ม่านตาอักเสบ ต้อหิน ประสาทตาอักเสบ (optic neuritis) ถึงขั้นทำให้สายตาพิการได้
    เชื้องูสวัดอาจแพร่ไปที่สมอง ทำให้สมองอักเสบ หรือไปที่ปอด ทำให้ปอดอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง แต่พบได้ค่อนข้างน้อย
    ในรายที่เป็นงูสวัดบริเวณรอบ ๆ หูข้างหนึ่ง ซึ่งจะมีการอักเสบของเส้นประสาทใบหน้าและเส้นประสาทหู ทำให้เกิดอาการอัมพาตของใบหน้าซีกนั้น (กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง มีอาการปากเบี้ยว ยักคิ้วไม่ได้ และหลับตาไม่มิด รับรสไม่ได้ ซึ่งเกิดขึ้นข้างเดียวกับที่เป็นงูสวัด) ร่วมกับมีอาการปวดหู มีเสียงดังในหู วิงเวียน บ้านหมุน คลื่นไส้ หูอื้อ หูตึง ตากระตุก เรียกว่า "กลุ่มอาการแรมเซย์ฮันต์ (Ramsay-Hunt syndrome)" แพทย์จะให้ยาต้านไวรัส (เช่น อะไซโคลเวียร์) และยาเม็ดเพร็ดนิโซโลน เพื่อลดการอักเสบและความรุนแรงของโรค
    การเกิดผื่นงูสวัดชนิดแพร่กระจาย (generalized herpes zoster) พบได้ประมาณร้อยละ 8-10 ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะผู้ป่วยเอดส์ (ซึ่งพบว่าเป็นงูสวัดร่วมด้วยถึงร้อยละ 8-11) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยจะมีตุ่มขึ้นนอกแนวเส้นประสาทมากกว่า 20 ตุ่ม หรือขึ้นตามแนวเส้นประสาทมากกว่า 1 แนว อาการมักจะรุนแรงและเป็นอยู่นาน อาจกระจายเข้าสู่สมองและอวัยวะภายในอื่น ๆ (เช่น ปอด ตับ) เป็นอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้
    มารดาที่เป็นงูสวัดขณะตั้งครรภ์ อาจแพร่เชื้อไปยังทารกในครรภ์กลายเป็นกลุ่มอาการอีสุกอีใสแต่กำเนิด (congenital varicella syndrome) เช่น มีแผลเป็นตามตัว แขนขาลีบ ต้อกระจก ตาเล็ก ศีรษะเล็ก ปัญญาอ่อน เป็นต้น กลุ่มอาการดังกล่าวส่วนใหญ่มักเกิดจากมารดาที่เป็นอีสุกอีใสมากกว่างูสวัด (ดูข้อมูล "โรคอีสุกอีใส" เพิ่มเติม)


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

มักตรวจพบตุ่มน้ำใสเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท และต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง (เช่น รักแร้ คอ) มักโตและเจ็บร่วมด้วย

บางรายอาจพบว่ามีไข้ร่วมด้วย

ในบางรายแพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการขูดแผลนำเนื้อเยื่อไปตรวจหาเชื้อ หรือการทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี)

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ในรายที่อาการไม่รุนแรง ให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้าปวดให้ยาแก้ปวด ถ้าปวดแสบปวดร้อน ทายาแก้ผดผื่นคัน หรือครีมพญายอขององค์การเภสัชกรรม ถ้าตุ่มกลายเป็นหนองเฟะจากการติดเชื้อแทรกซ้อน ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน อีริโทรไมซิน

2. ในคนอายุมากกว่า 50 ปี หรือในรายที่ขึ้นบริเวณหน้า หรือมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่เริ่มแรกที่มีผื่นขึ้น ให้กินอะไซโคลเวียร์นาน 7 วัน แต่จะต้องเริ่มให้ภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จึงจะได้ผลในการลดความรุนแรง และย่นเวลาให้หายเร็วขึ้น รวมทั้งอาจลดอาการปวดประสาทแทรกซ้อนในภายหลังได้

3. ถ้าพบเป็นชนิดแพร่กระจาย (ออกนอกแนวเส้นประสาท) ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ สงสัยอาจมีภาวะแทรกซ้อนทางตา (เช่น เจ็บตา เคืองตา ตาแดง ตามัว) หรือมีอาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกร่วมด้วย หรือสงสัยเป็นโรคเอดส์ แพทย์จะให้การรักษา ดังนี้

    ในรายที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเป็นชนิดแพร่กระจาย อาจต้องพักในโรงพยาบาล และให้อะไซโคลเวียร์ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด
    ในรายที่ขึ้นที่ตา จักษุแพทย์จะให้การรักษาโดยให้กินอะไซโคลเวียร์นาน 10 วัน และอาจให้ขี้ผึ้งป้ายตาอะไซโคลเวียร์ชนิด 3% ป้ายตาร่วมด้วย ในรายที่เป็นรุนแรงหรือมีม่านตาอักเสบ อาจต้องให้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ และยาหยอดตาอะโทรพีนชนิด 1%
    ในรายที่เป็นอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก แพทย์จะให้กินแพร็ดนิโซโลนจนกว่าผื่นจะหาย (ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์) และอาจพิจารณาให้อะไซโคลเวียร์ร่วมด้วย


4. ในรายที่มีอาการปวดประสาทหลังเป็นงูสวัด ระหว่างที่มีอาการปวดประสาท ให้พาราเซตามอล ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือทรามาดอล หรือให้กินอะมิทริปไทลีน บางรายแพทย์อาจให้ยารักษาโรคลมชัก เช่น คาร์บามาซีพีน (carbamazepine) หรือกาบาเพนทิน (gabapentin) ในการบรรเทาอาการปวดประสาท

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีตุ่มน้ำใสเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาทที่บริเวณชายโครง ใบหน้า แขนหรือขา ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นงูสวัด ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีไข้ หายใจหอบ เจ็บหน้าอกมาก หนาวสั่น คลื่นไส้ หรือเบื่ออาหาร
    งูสวัดลุกลามเข้าตา มีอาการปวดตา ตาแดง ตาพร่ามัว
    กล้ามเนื้อใบหน้าซีกหนึ่งอ่อนแรง มีอาการปากเบี้ยว ยักคิ้วไม่ได้ และหลับตาไม่มิดข้างหนึ่ง
    ผื่นตุ่มกระจายไปทั่วตัว หรือตุ่มกลายเป็นหนอง
    มีอาการปวดที่บริเวณที่เป็นงูสวัดมาก ซึ่งอาจพบในระยะที่มีผื่นตุ่มขึ้นใหม่ ๆ หรือหลังจากผื่นตุ่มยุบหายดีแล้วก็ได้
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

โรคนี้อาจป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส (varicella vaccine/chickenpox vaccine) และวัคซีนงูสวัด (zoster vaccine/shingles vaccine) ดังนี้

    วัคซีนอีสุกอีใส ฉีดตั้งแต่วัยเด็กเล็ก หรือผู้ใหญ่ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใส ซึ่งถึงแม้จะไม่สามารถป้องกันโรคอีสุกอีใสและงูสวัดได้ทุกคน แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนลงได้
    วัคซีนงูสวัด (ซึ่งเป็นคนละชนิดกับวัคซีนอีสุกอีใส) ที่มีใช้ในปัจจุบันมีชื่อการค้าว่า "Zostavax" แนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ทั้งที่มีประวัติเคยเป็นอีสุกอีใสและไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน ฉีดเพียงเข็มเดียว (ในสหรัฐอเมริการมีวัคซีนงูสวัดชนิดใหม่ ซึ่งมีชื่อการค้าว่า "Shingrix" แนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี 2 ครั้ง ห่างกัน 2-6 เดือน) วัคซีนงูสวัดถึงแม้จะไม่สามารถป้องกันโรคงูสวัดได้ทุกคน แต่ก็ช่วยลดความรุนแรง และลดการเกิดอาการปวดประสาทหลังเป็นงูสวัด (postherpetic neuralgia) ลงได้

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้สำหรับคนทั่วไป ถือว่าไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงและจะหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ การรักษาเพียงแต่ให้การบรรเทาตามอาการ ยกเว้นในคนอายุมากกว่า 50 ปี ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ งูสวัดที่ขึ้นบริเวณใบหน้า และผู้ที่มีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น ต้องให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดกินหรือฉีด

2. สมุนไพรที่นิยมใช้รักษาโรคนี้มาแต่โบราณ ได้แก่ ต้นเสลดพังพอน (พญายอ ชองระอา ก็เรียก) ได้มีการวิจัยพบว่า มีสรรพคุณในการรักษาโรคนี้ ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมได้ผลิตเป็นครีมสำเร็จรูป ชื่อครีมพญายอ สามารถใช้ทารักษาโรคนี้ร่วมด้วยได้ หรือจะใช้วิธีเอาต้นเสลดพังพอนสด ล้างน้ำให้สะอาด และบดให้ละเอียดแล้วนำน้ำคั้นมาทาบริเวณแผลงูสวัดก็ได้ วิธีนี้ควรใช้รักษาเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นไม่รุนแรง อายุต่ำกว่า 50 ปี ไม่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และไม่ได้ขึ้นบริเวณใบหน้า

3. เดิมแพทย์เคยนิยมให้สเตียรอยด์ในระยะแรกที่เป็นงูสวัด เพื่อป้องกันอาการปวดประสาทแทรกซ้อนตามมา แต่มีการศึกษาพบว่าไม่ได้ผลจริง ถึงแม้ยานี้จะสามารถลดอาการปวดที่เกิดขึ้นในระยะที่เริ่มเป็นใหม่ ๆ ก็ตาม

วิธีป้องกันการเกิดอาการดังกล่าวที่ได้ผลดี ก็คือการให้ยาต้านไวรัส-อะไซโคลเวียร์ กินตั้งแต่แรก

4. ชาวบ้านมักมีความเชื่อว่า ถ้างูสวัด (งูตวัด ก็เรียก ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะอาการ) เป็นรอบเอวเมื่อใดจะทำให้ตายได้ แต่ความเป็นจริงก็คือ โรคนี้มีโอกาสทำให้ตายได้น้อยมาก และส่วนมากจะขึ้นเพียงข้างเดียวเท่านั้น ถ้าจะเป็นอันตราย ก็เกิดจากการอักเสบซ้ำจากเชื้อแบคทีเรีย จนอาจกลายเป็นโลหิตเป็นพิษ ซึ่งปัจจุบันก็สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

อย่างไรก็ตาม งูสวัดที่จะเป็นรุนแรงทั่วร่างกายอาจพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เอดส์ เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจมีอันตรายถึงเสียชีวิตได้

5. ผู้ที่เป็นงูสวัดชนิดแพร่กระจายหรือเป็นซ้ำซาก ควรส่งตรวจเลือดดูว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีซ่อนเร้นอยู่หรือไม่

6. ผู้ที่เป็นงูสวัด อาจแพร่เชื้อให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ซึ่งถ้าหากยังไม่เคยรับเชื้อนี้มาก่อน (เช่น เด็กเล็ก) ก็อาจทำให้เป็นอีสุกอีใสได้ ดังนั้นจึงควรแยกตัว อย่าอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก ๆ และผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน

 

ลงประกาศฟรี โฆษณาฟรี ลงประกาศขายบ้านฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถ สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทสินค้าฟรี เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google