ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อมูลโรคไข้ฉี่หนู/เล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis)  (อ่าน 355 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 260
    • ดูรายละเอียด
ข้อมูลโรคไข้ฉี่หนู/เล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis)

เล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้เป็นครั้งคราวในแทบทุกจังหวัด พบมากในคนที่มีอาชีพที่ต้องย่ำน้ำหรือแช่น้ำ เช่น ทำนา ทำสวน จับปลา เก็บขยะ ขุดท่อ เลี้ยงสัตว์ ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ทำเหมืองแร่ แม่บ้านที่เตรียมอาหารจากเนื้อสัตว์ นักท่องเที่ยวที่นิยมเที่ยวป่า น้ำตก ทะเลสาบ ว่ายน้ำในแหล่งน้ำจืด เป็นต้น

พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2.5 เท่า ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 15-54 ปี

โรคนี้พบได้ประปรายตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีน้ำขัง หรือเกิดภาวะน้ำท่วม มีเชื้อโรคขังอยู่ในน้ำ เมื่อคนเดินลุยน้ำหรือลงแช่น้ำก็มีโอกาสได้รับเชื้อนี้ บางครั้งอาจพบมีการระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีภาวะน้ำท่วม

ในระยะหลังๆ นี้ พบผู้ป่วยเป็นโรคนี้กันมากทางภาคอีสาน เนื่องจากมีหนูชุกชุมตามท้องนา และมักจะเป็นชนิดรุนแรง ชาวบ้านเรียกว่า ไข้ฉี่หนู


สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่าเชื้อ เล็ปโตสไปร่า (leptospira) มีอยู่หลายพันธุ์ย่อย ซึ่งก่อให้เกิดอาการและความรุนแรงแตกต่างกันไป ขึ้นกับชนิดและปริมาณของเชื้อ

เชื้อนี้จะมีอยู่ในไตของสัตว์ ที่พบบ่อย คือ หนูท่อ หนูนา หนูพุก นอกจากนี้ยังพบในสุนัข สุกร แมว โค กระบือ แพะ แกะ

เชื้อที่ก่อโรครุนแรงมีชื่อว่า Leptospira icterohaemorrhagiae อาศัยอยู่ในหนูและสุนัข Leptospira bataviae อาศัยอยู่ในหนู สุนัข โค กระบือ

สัตว์เหล่านี้จะปล่อยเชื้อออกมากับปัสสาวะ เชื้อจะสามารถมีชีวิตอยู่ในแหล่งน้ำหรือพื้นดินที่ชื้นแฉะได้นานหลายเดือน

คนเราจะรับเชื้อเข้าร่างกาย โดยผ่านเข้าทางบาดแผลถลอกหรือขีดข่วนตามผิวหนัง หรือเข้าทางเยื่อบุตา จมูกหรือช่องปากที่ปกติ วิธีติดเชื้อที่สำคัญ ได้แก่ การย่ำน้ำที่ท่วมขัง (เช่น ตามซอกซอยในเมือง) หรือพื้นดินที่ชื้นแฉะ (เช่น ตามท้องนา) และการแช่อยู่ในน้ำตามห้วยหนองคลองบึง เป็นเวลาเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป (เช่น จับปลา เก็บผัก เล่นน้ำ แข่งกีฬาทางน้ำ) นอกจากนี้ยังสามารถติดเชื้อโดยการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะหนู หรือสัมผัสถูกเลือด ปัสสาวะ หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่ติดเชื้อโดยตรง

ระยะฟักตัว 2-26 วัน (ที่พบบ่อย คือ 7-14 วัน)


อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่แตกต่างตรงที่จะรู้สึกปวดมากตรงบริเวณน่อง หลัง และหน้าท้อง

บางรายอาจมีไข้ติดต่อกันหลายวันสลับกับระยะไข้ลด

บางรายอาจมีอาการตาแดง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เจ็บคอ ไอ เจ็บหน้าอก บางรายอาจมีอาการปวดตรงชายโครงขวา (ซึ่งอาจปวดรุนแรง จนแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นภาวะปวดท้องเฉียบพลัน และผ่าตัดช่องท้องดู)

อาจมีอาการตาเหลืองเล็กน้อย หลังมีไข้ 4-7 วัน

ในรายที่เป็นรุนแรง (พบได้ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วย) หลังมีไข้ 4-9 วัน จะมีอาการตาเหลืองจัด ปัสสาวะเหลืองเข้ม ปัสสาวะออกน้อย บางรายอาจมีอาการเลือดกำเดาไหล มีจุดแดงจ้ำเขียวขึ้นตามตัว หรืออาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายเป็นเลือด บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หายใจหอบ หรือไอเป็นเลือด


ภาวะแทรกซ้อน

ที่สำคัญและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ได้แก่ ไตวาย ภาวะเลือดออก (ซึ่งเกิดจากการอักเสบของผนังหลอดเลือด) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลือดออกในทางเดินอาหารและในปอด ซึ่งมักพบในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการดีซ่านร่วมด้วย

นอกจากนี้อาจพบภาวะตับวาย ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ ภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว หัวใจวาย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

บางรายหลังจากอาการทั่วไปหายดีแล้ว อาจมีอาการผิดปกติทางจิต เช่น โรคจิต (psychosis) กระสับกระส่าย พฤติกรรมผิดปกติเป็นเวลานานมากกว่า 6 เดือน


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส

เยื่อตาขาวมีลักษณะบวมแดง (conjunctival suffusion) ที่ตา 2 ข้าง ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดที่เยื่อบุตาขยายตัว มักเกิดขึ้นภายใน 3 วันแรกของโรค และเป็นอยู่นาน 1-7 วัน อาจพบร่วมกับภาวะเลือดออกใต้ตาขาว

เมื่อใช้มือบีบบริเวณกล้ามเนื้อน่อง จะมีอาการเจ็บปวดมาก

บางรายอาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโต ตับโต ม้ามโต ตาเหลืองเล็กน้อย หรือพบผื่นแดง ลมพิษตามผิวหนัง

บางรายอาจพบอาการคอแข็ง (หลังเป็นไข้ประมาณ 1 สัปดาห์)

การทดสอบทูร์นิเคต์อาจให้ผลบวก (ดูวิธีทดสอบใน โรคไข้เลือดออก ที่หัวข้อ "อาการ" เพิ่มเติม)

ในรายที่เป็นรุนแรง มักตรวจพบอาการตาเหลือง ตัวเหลืองจัด ตับโตและเจ็บ มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือรอยห้อเลือดตามผิวหนัง อาการไตวายเฉียบพลัน

นอกจากนี้ ยังอาจตรวจพบภาวะซีด หายใจหอบเร็ว ภาวะหัวใจวาย ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ ความดันต่ำ

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด จะพบจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ บางรายอาจสูงถึง 50,000 ตัว/ลบ.มม. เกล็ดเลือดต่ำ นอกจากนี้ยังพบระดับของบียูเอ็น (BUN) ครีอะตินีน (creatinine) เอเอสที (AST) และเอแอลที (ALT) สูงกว่าปกติ


การตรวจปัสสาวะพบสารไข่ขาว เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว

ในรายที่ปวดศีรษะรุนแรง หรือสงสัยเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบแทรกซ้อน อาจต้องเจาะหลัง

อาจต้องทำการเพาะเชื้อจากเลือด ปัสสาวะ หรือน้ำไขสันหลัง

การทดสอบทางน้ำเหลือง ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น IgM-ELISA, microscopic agglutination test (MAT), macroscopic slide agglutination test (MSAT), latex agglutination test, lepto-dipstick test เป็นต้น มักพบสารภูมิต้านทานต่อเชื้อนี้ขึ้นสูง


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ในรายที่เป็นไม่รุนแรง ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน หรือดอกซีไซคลีน

2.  ในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์จะรับตัวไว้ในโรงพยาบาล ให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด เช่น เพนิซิลลินจี ดอกซีไซคลีน หรือเซฟทริอะโซน (ceftriaxone) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ

นอกจากนี้จะให้การรักษาตามอาการที่พบ เช่น ให้ยาลดไข้ ให้น้ำเกลือถ้ามีภาวะขาดน้ำ ให้เลือดถ้ามีเลือดออก

ถ้ามีภาวะไตวาย อาจต้องทำการฟอกล้างของเสียหรือล้างไต (dialysis)

ผลการรักษา ขึ้นกับความรุนแรงโรคและสภาพของผู้ป่วย ถ้าไม่มีอาการดีซ่าน อาการมักจะไม่รุนแรง แต่ถ้ามีดีซ่านร่วมด้วย มักจะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และมีอัตราตายถึงร้อยละ 15-20 ซึ่งมักเกิดจากภาวะไตวาย หรือช็อกจากการเสียเลือด ภาวะรุนแรงมักเกิดในผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีไข้สูงร่วมกับอาการหนาวสั่น หรือมีไข้ร่วมกับตาแดง ตาเหลือง ปวดศีรษะรุนแรง ปวดท้องมาก หรือปวดน่องมาก หรือมีไข้ในช่วงที่มีคนในละแวกใกล้เคียงเป็นไข้ฉี่หนู ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นไข้ฉี่หนู (เล็ปโตสไปโรซิส) ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
    มีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก ซึมมาก ไม่ค่อยรู้สึกตัว เพ้อคลั่ง หรือชัก
    หายใจหอบ เจ็บหน้าอกมาก หรือชีพจรเต้นผิดปกติ
    ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่ออกเลย
    มีเลือดออก เช่น ถ่ายเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำ
    ตาเหลืองตัวเหลือง หน้าตาซีดเซียว หรือเบื่ออาหารมาก
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

1. กำจัดหนู (ซึ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ) ทั้งในนาข้าวและในที่อยู่อาศัย

2. รักษาความสะอาดบริเวณบ้านเรือน อย่าให้มีขยะและเศษอาหารตกค้าง อันจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหนู

3. ถ้ามีบาดแผล รอยถลอก ขีดข่วน ให้ปิดแผลและหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่ท่วมขังหรือพื้นดินที่ชื้นแฉะ หรือลงแช่น้ำในห้วยหนองคลองบึง

4. ถ้าต้องเดินย่ำน้ำหรือพื้นดินที่ชื้นแฉะ (ตามตรอก ซอย คันนา ท้องนา ท้องไร่) ให้ใส่รองเท้าบู๊ตหรือรองเท้าหุ้มข้อ

5. อย่าลงแช่น้ำในห้วยหนองคลองบึงนานเกินครั้งละ 2 ชั่วโมง และเมื่อขึ้นจากน้ำควรฟอกสบู่และชำระด้วยน้ำสะอาด

6. เก็บหรือปกปิดอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิด อย่าให้หนูปัสสาวะใส่

7. ดื่มน้ำต้มสุก และกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ด้วยความร้อน

8. หมั่นล้างมือภายหลังจับต้องเนื้อ ซากสัตว์ และสัตว์ทุกชนิด

9. ในกรณีที่ต้องเดินทางเข้าไปในแหล่งที่มีโรคนี้ชุกชุมในช่วงเวลาสั้น ๆ (เช่น การตั้งค่ายของกองทหาร นักเรียน นักศึกษา) และไม่สามารถใช้วิธีป้องกันอย่างอื่น ๆ ได้ ควรกินยาดอกซีไซคลีนป้องกันล่วงหน้า ครั้งละ 200 มก. ตั้งแต่ในวันแรกที่เข้าไป ต่อมากินทุกต้นสัปดาห์ และวันหยุดสุดท้ายก่อนกลับ


ข้อแนะนำ

1. อาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว นอกจากนึกถึงสาเหตุจากไข้หวัดใหญ่ ไทฟอยด์ สครับไทฟัส กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน มาลาเรีย ไข้เลือดออก ถุงน้ำดีอักเสบ และท่อน้ำดีอักเสบแล้ว จะต้องนึกถึงไข้ฉี่หนูหรือโรคเล็ปโตสไปโรซิสไว้ด้วยเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบมีอาการตาแดงหรือดีซ่านร่วมด้วย ในผู้ป่วยที่อยู่ในถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุม

2. โรคนี้ส่วนใหญ่ (กว่าร้อยละ 90) จะมีอาการไม่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีอาการดีซ่านร่วมด้วย จนบางครั้งมักจะวินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือโรคติดเชื้อไวรัส ดังนั้นเมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือโรคติดเชื้อไวรัส ควรตรวจโดยการบีบน่องผู้ป่วย ถ้ารู้สึกเจ็บน่องมาก ควรสงสัยว่าอาจเป็นไข้ฉี่หนูหรือเล็ปโตสไปโรซิส ควรสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด และไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว การรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้ภายใน 10-14 วัน

ส่วนรายที่เป็นรุนแรง (พบได้ร้อยละ 10) มักจะมีอาการตาเหลืองจัด บางครั้งทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นตับอักเสบจากไวรัส ข้อแตกต่าง คือ ตับอักเสบจากไวรัสมักจะไม่มีไข้เมื่อมีอาการดีซ่าน ในขณะที่เล็ปโตสไปโรซิสจะมีไข้สูงขณะที่มีอาการดีซ่าน และมักจะมีอาการอื่น ๆ เช่น ไตวาย (ปัสสาวะออกน้อย) เลือดกำเดาไหล หรือมีจุดแดงจ้ำเขียวร่วมด้วย

หากสงสัยควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็มักจะหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์



 

ลงประกาศฟรี โฆษณาฟรี ลงประกาศขายบ้านฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถ สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทสินค้าฟรี เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google