หลายคนอาจเจอกับปัญหาปลั๊กพ่วงระเบิด ไฟช็อต ไฟลัดวงจร และทำให้เกิดไฟลุกไหม้ได้ หากเลือกซื้อปลั๊กพ่วงที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้งาน เป็นห่วงความปลอดภัยของทุกคน จึงมีวิธีเลือกซื้อปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐานมาบอกกัน
ซึ่งปลั๊กพ่วงที่ควรเลือกใช้นั้น ต้องได้การรับรองมาตรฐานมอก. 2432-2555 เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 (ก่อนหน้านี้มีแต่ มอก.สายไฟ, มอก.เต้าเสียบ, มอก.สวิชต์)
สิ่งที่ต้องสังเกต... เมื่อจะเลือกซื้อปลั๊กพ่วง มีดังนี้
1. ต้องมีตรามาตรฐานมอก.ปลั๊กพ่วง (มอก. 2432-2555) บนตัวปลั๊กพ่วง และบนบรรจุภัณฑ์อย่างชัดเจน
2. หัวปลั๊กเสียบ ต้องเป็น 3 ขากลม มาตรฐาน มอก. 166-2549 ต้องมีฉนวนกันกระแสไฟฟ้าที่รอบโคนขากลม เพื่อป้องกันไฟดูด หากมือบังเอิญไปโดน และเมื่อเสียบหัวปลั๊กกับเต้าเสียบ ต้องไม่หลวม ต้องแน่นพอดี เพราะหากปลั๊กหลวมจะเป็นสาเหตุให้เกิดไฟไหม้ได้
3. สายไฟ ต้องเป็นแบบกลม มาตรฐาน มอก. 11-2553
4. เต้ารับ ต้องมีม่านนิรภัย มาตรฐาน มอก. 166-2549 เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วมือไปสัมผัสโดนกระแสไฟฟ้าจากรูเต้ารับโดยบังเอิญได้ และช่องสายดิน (ช่อง G) จะต้องต่อวงจรจริง ไม่ได้เป็นรูสายดินแบบหลอก
5. ตัวรางปลั๊กพ่วง ต้องทำจากวัสดุที่ป้องกันการติดไฟ
6. สำหรับปลั๊กพ่วงที่มีตั้งแต่ 3 ช่องขึ้นไป ต้องมีตัวตัดไฟที่เป็นแบบเบรกเกอร์ เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าเกิน และห้ามใช้ตัวตัดไฟแบบฟิวส์
7. ตัวปลั๊กพ่วง ต้องมีการระบุข้อมูลของแรงดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้า ซึ่งปลั๊กพ่วงแต่ละตัวจะต้องรองรับแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 440 V (โวลต์) และรองรับกระแสไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 16 A (แอมแปร์)
8. สามารถป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่าหรือเท่ากับ 12.5 มิลลิเมตร เข้าไปในปลั๊กพ่วงได้ ตามค่ามาตรฐาน IP 20
เกร็ดน่ารู้...ทำไมใช้ปลั๊กพ่วงแล้วไฟตัด
หากเราเสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายตัวพร้อมกันที่ปลั๊กพ่วงตัวเดียว อาจทำให้ไฟของปลั๊กพ่วงตัดได้ ซึ่งบางคนอาจคิดว่าปลั๊กพ่วงเสีย แต่ที่จริงแล้ว...เป็นเพราะใช้กำลังไฟฟ้ามากเกินกว่าที่ปลั๊กพ่วงจะรองรับต่างหาก ดังนั้น เราควรเลือกปลั๊กพ่วงที่รองรับกำลังไฟฟ้าให้เหมาะสมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่เราใช้งานพร้อมกัน โดยปลั๊กพ่วงทุกรุ่นจะระบุจำนวนวัตต์ที่รองรับได้ คราวนี้ลองมาคำนวนกันค่ะ ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดใช้กำลังไฟฟ้าประมาณเท่าไหร่ และใช้งานเกินกำลังไฟฟ้าที่ปลั๊กพ่วงรองรับหรือเปล่า
- ไดร์เป่าผม 100-1,000 วัตต์
- เตาไมโครเวฟ 100-1,000 วัตต์
- โทรทัศน์สี 80-180 วัตต์
- เครื่องชงกาแฟ 200-600 วัตต์
- เตารีดไฟฟ้า 700-2,000 วัตต์
- เครื่องปิ้งขนมปัง 800-1,000 วัตต์
- หม้อหุงข้าว 450-1,500 วัตต์
- เครื่องดูดฝุ่น 750-1,200 วัตต์
- ตู้เย็น 70-145 วัตต์
- เครื่องซักผ้าแบบมีเครื่องอบ 3,000 วัตต์
ตัวอย่างการคำนวนกำลังไฟฟ้า: เครื่องใช้ไฟฟ้าในห้องครัวที่นำมาเสียบมี เตาไมโครเวฟ 800 วัตต์, เครื่องชงกาแฟ 400 วัตต์, หม้อหุงข้าว 800 วัตต์ และเครื่องปิ้งขนมปัง 800 วัตต์ รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้ง 4 ชิ้น ใช้กำลังไฟฟ้าเป็น 2,800 วัตต์ หากปลั๊กพ่วงรองรับกำลังไฟฟ้าได้ 2,300 วัตต์ กำลังไฟฟ้าจากเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเกิน อาจจะต้องสลับกันเสียบใช้ปลั๊กพ่วง เพื่อไม่ให้ไฟตัด
บริหารจัดการอาคาร: ทำไมปลั๊กพ่วงมักไฟช็อต ไฟลัดวงจร หรือไฟตัด อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://snss.co.th/dt_post/technical-services/